top of page

วิพากษ์และรื้อถอน: การศึกษาในฐานะดาบสองคมกับการพัฒนาความฉลาดของผู้เรียน

  • รูปภาพนักเขียน: แคทรียา มาลาศรี
    แคทรียา มาลาศรี
  • 20 เม.ย. 2564
  • ยาว 2 นาที



ประเด็นในเรื่องความสามารถและความฉลาด เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมาโดยตลอดในบริบทของการศึกษา ทั้งในไทยและในต่างประเทศ ทั้งสองสิ่งนี้ยังคงถูกใช้เป็นตัวที่วัดความสำเร็จของการเรียน การทำงานและการใช้ชีวิต ภาพรวมของการศึกษาโลกยังคงคาดหวังให้ประชากรที่ได้รับการศึกษาเพื่อเป็นคนฉลาด เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาจึงถูกคาดหวังให้ต้องมีทั้งความฉลาดและมีความสามารถในการดำรงชีวิตหรือทำงานตอบแทนรัฐได้ เมื่อมายาคติการศึกษาโลกยังคงเป็นแนวคิดกระแสหลักที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง จึงยังมีการพยายามแบ่งเฉดของความสามารถและความฉลาดของคน โดยใช้ทฤษฎี งานวิจัย แนวคิดทางจิตวิทยา แบบทดสอบหรือเครื่องมืออาทิ แบบทดสอบ IQ (Intelligence quotient) โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment) หรือ PISA ที่นำไปสู่การจัดอันดับคุณภาพการศึกษาเพื่อชี้ให้เห็นถึงความสามารถและความฉลาดของคนแต่ละชาติ แม้จะกล่าวว่าการจัดประเมินหรือจัดอันดับเหล่านี้เป็นไปเพื่อการพัฒนา มิใช่การตีตรา ก็ไม่อาจเลี่ยงได้ว่าเป็นส่วนที่กดทับให้แต่ละประเทศต้องหวนกลับมาทบทวนนโยบายการศึกษาในประเทศของตนเองและริเริ่มการอุดช่องโหว่ เสริมจุดแข็ง หรือคิดค้นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ใหม่ ๆ เพื่อดึงศักยภาพและความสามารถของผู้เรียนในระบบการศึกษาออกมา


ความฉลาดในทางทฤษฎีและปัจจัยที่มีผลต่อความฉลาด

ความฉลาดถูกนิยามขึ้นมาในซีกโลกตะวันตก โดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่าใครฉลาดกว่าใคร จนเริ่มมีการศึกษาเรื่อยมาและถูกต่อยอดไปเป็นคำอธิบายโดยนักวิชาการหลายสำนัก โดยนิยามความฉลาดนั้นมีความลื่นไหลเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ในศาสตร์ของวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา ในงานชิ้นนี้ความฉลาด หมายถึง ผู้ที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสมกับบริบททางสังคมที่ตนเองอยู่ อิงตามทฤษฎีความหลากหลายของความฉลาดหรือที่เรียกว่าทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ที่อธิบายคุณลักษณะของความฉลาดหรือปัญญา ออกเป็น 9 ด้านด้วยกัน ได้แก่ (1) ความฉลาดทางภาษา (2) ความฉลาดด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (3) ความฉลาดทางดนตรีและจังหวะ (4) ความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ (5) ความฉลาดด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย (6) ความฉลาดด้านมนุษย์สัมพันธ์ (7) ความฉลาดด้านการเข้าใจตนเอง (8) ความฉลาดด้านธรรมชาติวิทยา (9) ความฉลาดด้านปรัชญา โดยมีความเชื่อว่าปัญญาหรือความฉลาดทั้ง 9 ด้านนี้มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคนและอาจมีมากน้อยต่างกันไป เมื่อมองผ่านเลนส์ของทฤษฎีนี้ที่ว่า “ปัญญาแต่ละด้านเป็นเอกเทศต่อกัน ไม่มีปัญญาด้านไหนที่เป็นพื้นฐานของกันและกัน อย่างไรก็ตามปัญญาหลายด้านมีความเชื่อมโยงกัน อันเนื่องมาจากการทำกิจกรรมหนึ่งอาจต้องใช้ปัญญามากกว่าหนึ่งด้าน” (Gardner, 1983 อ้างถึงใน ลินดา เยห์, 2564) หากใช้ความหมายของความฉลาดตามทฤษฎีข้างต้นนี้ ความฉลาดจึงไม่ถูกยึดโยงอยู่แค่เกรดเท่านั้น อาจหมายรวมถึงความสามารถในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน หรือความฉลาดด้านอื่นที่นอกเหนือจากด้านวิชาการ ทฤษฎีนี้ได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “ความสามารถของมนุษย์เกิดจากการทำงานประสานกันระหว่างพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมผ่านกระบวนการบ่มเพาะศักยภาพที่หลากหลาย ดังนั้น การพัฒนาความสามารถจึงเกิดจากการฝึกฝนจนชำนาญ (Expert)ไม่ว่าจะมีต้นทุนมากหรือน้อย” (Davis et al., 2011 อ้างถึงใน ลินดา เยห์, 2564) การพัฒนาปัญญาของแต่ละคนจึงเปรียบได้กับการเดินทาง ซึ่งอาจมีเส้นทาง วิธีการ ความช้าหรือเร็วและระยะทางที่มีความเฉพาะตัวในแต่ละคน ดังนั้นปัจจัยที่มีผลโดยตรงต่อความสามารถและความฉลาดตามทฤษฎีนี้ ส่วนหนึ่งคือพันธุกรรมและอีกหนึ่งส่วนที่สำคัญคือการฝึกฝน การทำซ้ำจนเกิดความเชี่ยวชาญในด้านที่ตนถนัด ซึ่งการฝึกฝนในที่นี้อาจหมายรวมถึงการทำกิจกรรม การทำข้อสอบ การทดลอง ร่วมกับการทำกระบวนการเพื่อสังเกตตนเอง อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าพันธุกรรมคือปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกคือ สภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน สังคมและประสบการณ์ที่เกิดจากการฝึกฝนด้วยตนเอง


ย้อนกลับมามองระบบการศึกษาของไทย

จากทฤษฎีข้างต้นนี้อนุมานได้ว่าการพัฒนาความสามารถและความฉลาดอาจต้องพัฒนาให้ครอบคลุมหลาย ๆ ด้าน โดยคำนึงถึงศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคนเป็นฐานในการออกแบบการเรียนรู้ จุดร่วมสำคัญคือการสร้างความเข้าใจในตัวเอง การค้นพบความถนัดหรือศักยภาพ ในบทความนี้จึงขอยกตัวอย่างการพัฒนาความสามารถและความฉลาดด้วยการใช้ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเป็นฐาน ซึ่งในบริบทการศึกษาไทยที่ผู้เขียนเข้าใจ ได้แก่ การตั้งชุมนุมชมรม เพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาศักยภาพ แลกเปลี่ยนความรู้กับคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน โรงเรียนจัดหาอุปกรณ์ สื่อการเรียนรู้ ห้องค้นคว้า ห้องทดลอง ห้องสมุด ฯลฯ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในห้องเรียน โรงเรียนจัดกิจกรรมควบคู่กับการสอนทฤษฎีเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ควบคู่กับการลงมือทำ มุ่งให้ผู้เรียนได้นำความรู้ไปต่อยอด อีกทั้งมีการจัดเวทีการแข่งขันระดับโรงเรียนเพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงความสามารถ จัดค่ายพัฒนาความสามารถ สิ่งที่โรงเรียนไทยมักทำเพื่อกระตุ้นเด็กคือการให้รางวัลในรูปของคะแนนพิเศษ เกียรติบัตร เหรียญรางวัล มอบรางวัลหน้าเสาธง ขึ้นป้ายโชว์หน้าโรงเรียนหรือการให้รางวัลผ่านการปฏิบัติตัว ท่าทาง คำพูดของครู ส่วนหนึ่งของสิ่งเหล่านี้ที่เกิดในระดับโรงเรียน มาจากภาพใหญ่ของระบบการศึกษาที่ให้การสนับสนุนความสามารถความฉลาดเหล่านี้ด้วยการออกหลักสูตรแกนกลางหรือนโยบายทางการศึกษา เพื่อเป็นกรอบให้กับสถาบันการศึกษาได้นำไปใช้ออกแบบหลักสูตรเพื่อพัฒนาผู้เรียน โดยจุดหมายภาพรวมของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ระบุจุดหมายที่ “มุ่งเน้นการพัฒนาให้ผู้เรียนให้เป็นคนดี มีสติปัญญา มีความสุข มีศักยภาพในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ” (กระทรวงศึกษาธิการ, 2561, น. 5) เห็นได้ว่าการที่หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้านการศึกษาโดยตรง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ อีกทั้งยังให้มุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน โดยแบ่งออกเป็น 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ (1) ความสามารถในการสื่อสาร (2) ความสามารถในการคิด (3) ความสามารถในการแก้ปัญหา (4) ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต (5) ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี การกำหนดสมรรถนะเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าระบบการศึกษาไทยได้ให้ความสำคัญกับความสามารถในตัวผู้เรียน เมื่อหน่วยงานที่มีอำนาจสูงสุดในระบบการศึกษาได้กำหนดหลักสูตรที่หน่วยงานย่อยอื่น ๆ ต้องยึดตามแบบแผนนี้ โรงเรียนซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้อำนาจ จึงต้องทำการออกแบบและพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับโจทย์ที่ได้รับ ส่งผลต่อเนื่องไปยังครูและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ พยายามจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรนี้ด้วย


สิ่งที่ระบบการศึกษากำลังทำ อาจเป็นการขัดขวางความฉลาด

เมื่อความสามารถและความฉลาดถูกนิยามขึ้น ส่งอิทธิพลถึงการจัดการเรียนรู้และยังมีอิทธิพลต่อมายาคติของระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก อาทิการร่างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน การกำหนดนโยบายการศึกษา การกำหนดโครงสร้างการประเมิน ฯลฯ ดังนั้นในระบบการศึกษาไทย ความเก่ง ความฉลาดจึงถูกนิยามและผูกติดไว้กับความสามารถที่วัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม สิ่งเหล่านี้อาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการแบ่งระดับของเด็กออกเป็นเด็กอ่อน เด็กทั่วไป เด็กฉลาด แยกห้องเด็ก Gifted จากเด็กทั่วไปโดยอ้างว่าเป็นการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียน คิดค้นเครื่องมือหรือการประเมินเพื่อคัดกรองเด็กออกเป็น กลุ่ม ๆ เมื่อแยกกลุ่มเด็กได้แล้ว หลีกเลียงไม่ได้ที่สถานศึกษาหรือครูจะให้ความสำคัญกับเด็กฉลาดมากกว่า ให้พื้นที่กับเด็กเก่งจนอาจทำให้เด็กที่ไม่เก่งตามแบบที่หลักสูตรกำหนดถูดแรงกดดัน ถูกกดทับด้วยมายาคติของความสามารถและความฉลาดเมื่อถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง จนเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำในชั้นเรียนและถูกแปะป้ายว่า “โง่” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ (2564) ได้ให้ความหมายของความโง่ว่า “ความโง่ หมายถึง ความไม่รู้ ความเขลา ไม่ฉลาด ไม่ทันคน ไม่เรียนรู้” บางครั้งความโง่ของเด็กในชั้นเรียน มิได้เป็นความโง่ที่เกิดจากการวินิจฉัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่เป็นแผ่นป้ายที่ครูและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กนำมาแขวนใส่คอให้กับพวกเขา เพียงเพราะไม่ได้เป็นเด็กหน้าห้อง ไม่ได้เป็นเด็กห้องคิงส์ ห้องGifted หรือถูกกล่าวหาว่าโง่เพราะสอบไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด โง่เพราะท่องสูตรไม่ได้ โง่เพราะเขียนสมการไม่ทันเพื่อน


ท่ามกลางสังคมที่ให้ค่ากับความฉลาด ระบบการศึกษาหรือโรงเรียนจึงต้องหาทางหล่อเลี้ยงปัจจัยที่สนับสนุนมายาคติความฉลาดที่สังคมสร้างขึ้น เพื่อไม่เป็นการเหมารวม ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอที่ผู้เขียนได้ร่ำเรียนมาในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ของการศึกษาหนึ่งที่ให้คุณค่ากับความฉลาด โดยเริ่มตั้งแต่การสอบเข้าหรือที่เรียกกันว่าสอบวัดระดับศักยภาพเพื่อคัดแยก (categorize) เด็กฉลาด ออกเป็นกลุ่ม ๆ ไล่ระดับตั้งแต่ฉลาดมากไปจนถึงฉลาดน้อย แล้วจับเอาเด็กที่มีความฉลาดใกล้เคียงกันไว้ห้องเดียวกันจากนั้นจึงจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละห้อง อัดความรู้ให้กับเด็ก จัดติว หรือจัดการสอนพิเศษขึ้นมาเพื่อโอบอุ้มเด็ก เพื่อเป็นการช่วยเหลือเด็กโดยรวมในทางตรงและผลักดันศักยภาพเด็กเก่งในทางอ้อม เมื่อจบภาคการศึกษา จึงจัดการสอบวัดระดับเพื่อเช็คความเข้าใจและผู้เรียนก็เข้าใจว่ามันคือการ “วัดความฉลาด” ของผู้เรียนแต่ละคน เมื่อผลการสอบชี้ตัวเด็กเก่งได้แล้ว โรงเรียนจึงทำการให้รางวัลแก่เด็กเก่ง โดยการจัดอันดับจากเกรด ติดประกาศหรือมอบเกียรติบัตรซึ่งเป็นการสรรเสริญที่เห็นได้ทั่วไป นอกจากการให้รางวัลเหล่านี้แล้ว เด็กที่มีความสามารถหรือมีความฉลาดที่โดดเด่น มักถูกผลักดัน เชิญชวน โดยการที่ครูใช้ Soft power ให้เข้าร่วมการแข่งขันทักษะทางวิชาการ การสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ การประกวดศิลปหัตถกรรมประจำปีซึ่งถูกจัดฉากให้เป็นการประกวดเพื่อแสดงความสามารถ ทว่าแนวคิดเบื้องหลัง (Hidden Agenda) คือการนำเด็กเก่งออกมาทำผลงาน เพื่อให้โรงเรียนมีชื่อเสียงด้านวิชาการ ผลพลอยได้คือการทำการตลาดให้โรงเรียน เพื่อเรียก “ลูกค้า” ในอนาคต

ลูกค้าในที่นี้อาจไม่ใช่เด็กนักเรียนด้วยซ้ำ แต่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความเกรงกลัว ความกลัวที่ว่าคือกลัวลูกหลานของตน ไม่เก่ง ไม่ดี ไม่ฉลาดเท่าคนอื่น ๆ ความกลัวว่าลูกจะ ด้อย กว่าคนอื่น ในประเด็นนี้อาจารย์อนุชาติ พวงสำลี ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับบรรยากาศแห่งความกลัว “ระบบการศึกษามีส่วนในการสร้างบรรยากาศความกลัว และความกลัวนี้ได้เข้าไปทำงานกับ Stakeholder ทุกส่วนในโรงเรียนตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน ครู ผู้บริหาร ความกลัวเหล่านี้หยั่งรากลึกมานานจนสั่นคลอนระบบให้ยุ่งเหยิง จนไปทำลายจุดเชื่อมต่อของสังคมให้หลุดออกจากกัน” (อรสา ศรีดาวเรือง, 2563 ) ความกลัวที่ถูกกดทับจากสังคมที่ให้ค่ากับคนที่มีความสามารถ สังคมที่ฉายไฟให้คนฉลาดให้เป็นผู้ที่มีสิทธิพิเศษ (Privilege) แรงกดทับเหล่านี้ส่งผลให้พ่อแม่ กดดันและกดทับลูกหลานของตนเองให้ต้องเก่ง ดี มีสุข เด็กที่มีผลการเรียนในอยู่ระดับดีเยี่ยม จึงถูกผลักดันจากพ่อแม่ ครู ผู้บริหาร โรงเรียนให้ผลิตผลงานอันน่าประทับใจ ส่วนเด็กที่มีผลการเรียนในระดับปานกลางและระดับต่ำ อาจได้รับการส่งเสริมศักยภาพหรือที่พบเห็นได้ไม่น้อยคือการถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

การสรรเสริญเด็กเก่งยังคงเกิดเป็นขึ้นเป็นความปกติ ในหลาย ๆ โรงเรียน หนึ่งในวัฒนธรรมการสรรเสิรญที่พบเห็นได้บ่อยคือการขึ้นป้ายนักเรียนที่สอบติดมหาวิทยาลัยดัง พื้นที่รั้วหน้าโรงเรียนถือเป็นพื้นที่สื่อที่โรงเรียนใช้เป็นป้ายโฆษณาเพื่อป่าวประกาศว่าเด็กเก่งของโรงเรียนนี้สอบติดมหาวิทยาลัยอะไรบ้าง เมื่อคนภายนอกมองจากด้านหน้าเข้าไป จะเห็นภาพโฆษณาของโรงเรียน ภาพของการโฆษณาชวนเชื่อว่าที่โรงเรียนสอนดี ครูดี ชั้นเรียนดี เห็นหน้าตาของเด็กเก่ง เบื้องหลังรั้วแห่งเกียรติภูมินี้คือนักเรียนที่ไม่ได้ขึ้นป้าย และถูกซุกไว้ใต้พรมของโรงเรียน พรมที่ซุกซ่อนปัญหาการบริหารจัดการชั้นเรียน ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงทรัพยากรของแต่ละคน โดยคำข้างต้นนี้สอดคล้องกับคำกล่าวของ อ.อรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการด้านการศึกษา จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยอธิบายถึงประเด็นนี้เอาไว้ว่า

“เราเห็นโรงเรียนจำนวนมากในบ้านเรา เวลาสอบเข้ามหาวิทยาลัยเสร็จจะมีป้ายไวนิลติดไว้หน้าโรงเรียน บอกเลยว่าใครเรียนที่ไหนอย่างไร คำถามคือ คุณมีเด็กสักพันกว่าคน เด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สัก 250 คน อีกพันคนไปไหน โรงเรียนเผชิญความจริงไหมว่าเด็กพันคนไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย เราจัดการศึกษาไม่ตรงไปตรงมา เราเลือกพูดเฉพาะด้านที่พอเห็นความสำเร็จ แต่ด้านที่เป็นปัญหายังมีอยู่อีกมากที่เราไม่เอาจริงเอาจังในการแก้ไข แต่เรากลับซุกปัญหาเอาไว้ใต้พรม” (Thanyawat Ippoodom, 2563).


ความพยายามในการโอบอุ้มความฉลาดนี้กลายมาเป็นวัฒนธรรม ค่านิยมที่กดทับตัวเด็กและสร้างผลกระทบทั้งในด้านบวกและด้านลบ มีผลไปจนถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง สังคม เกิดเป็นวัฏจักรและเกิดการผลิตซ้ำ จากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่ง จากโรงเรียนหนึ่งไปสู่อีกหลายโรงงเรียน แผ่ขยายออกไปและหยั่งรากลึกจนเราไม่อาจปฏิเสธได้


 


ดาบสองคมของการผลักดันความฉลาด

ในทางทฤษฎีกล่าวถึงปัจจัยที่ส่งเสริมความฉลาดอันได้แก่พรสวรรค์ซึ่งหมายถึงปัจจัยภายในและพรแสวงคือประสบการณ์ ปัจจัยทางสังคมและสภาพแวดล้อมรอบตัวซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ทว่าสังคมกลับให้คุณค่ากับผลการเรียน มากกว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างทาง เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วการพัฒนาความสามารถจึงแลกมาด้วยการที่ต้องดิ้นรนให้ถึงเกณฑ์ที่สังคมเป็นผู้กำหนด หากสิ่งที่ทำนั้นยังไม่เกิดผลมากพอที่จะทำให้สังคมยอมรับ ไม่มีตัวเลข ไม่มีเหรียญรางวัลที่ป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ หรือการพัฒนาด้วยวิธีการที่ไม่ใช่แนวทางหลักของสังคม ผลที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงการเอาชนะความท้าทายในตนเอง

สิ่งที่สังคมพยายามส่งเสริมด้วยการออกนโยบายของหน่วยงานระดับบนจนมาถึงการพัฒนาหลักสูตรของแต่ละโรงเรียนที่ส่งผลต่อมายังการจัดการเรียนการสอนของครูเพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนา มองจากภายนอกดูคล้ายกับการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถและความฉลาด ขณะเดียวกันก็เกิดเป็นแรงผลักดันให้ผู้เรียนต้องแข่งขันและเอาชนะ เกิดความเป็นเหลื่อมล้ำ อีกทั้งส่งผลด้านลบต่อผู้เรียน ทำให้เกิดความเครียด เกิดความกดดัน เกิดชนชั้น เกิดการตีตราจนเกิดเป็นบาดแผล

สิ่งที่ระบบกำลังส่งเสริม ด้านหนึ่งก่อให้เกิดการพัฒนา อีกด้านคือการทำให้เกิดสังเวียนการต่อสู้เพื่อเอาชนะ เพื่อให้เกิดการยอมรับ ผู้เขียนมองว่าความสามารถหรือความฉลาดไม่จำเป็นต้องเอามาประลองกัน เพราะในสังคมการทำงาน จำต้องประสานความร่วมมือ ความสามารถที่มีในตัวแต่ละคนมากกว่าการใช้ความสามารถหรือความฉลาดในการเอาชนะ แล้วจะดีกว่าหรือไม่หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กทุกคนในการแสดงความสามารถและความฉลาดที่มีอยู่ในตัวพวกเขา มิใช่เป็นสังเวียนต่อสู้เพื่อหาผู้ที่ชนะเพียงหนึ่งเดียว


writer: Katt K.

Kommentare


โพสต์: Blog2_Post

Thank you for your kindly visit

bottom of page